วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

ปะวะหล่ำ

เครื่องประดับชุดปะวะหล่ำ เป็นงานที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีน โดยมีความเชื่อกันว่า โคมไฟซึ่งให้ความสว่างไสวเปรียบประดุจสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง ปะวะหล่ำมีลักษณะเด่นที่รูปทรง มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกโปร่งหกเหลี่ยม กรรมวิธีการสร้างงาน คือเป็นงานลวดดัดลายที่ละเอียดสวยงาม แสดงลักษณะเฉพาะในเชิงช่างของงานเครื่องทองเพชรบุรี ลวดลายเป็นลวดทองบิดเกลียว ดัดเป็นรูปดอกจัน มีเกสรทำด้วยไข่ปลาตีแบนประดับ อาจประดับเกสรเพียงดอกเดียว หรือประดับเกสรดอกจันทุกดอก (รวม 3 ดอก) ในแต่ละด้าน แต่โบราณนั้น งานทองกรรมวิธีเดินลวดดัดลวดเช่นนี้ ช่างต้องเชื่ยวชาญในเชิงช่างอย่างมากและมักใช้ในงานเครื่องสูง ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ช่างทองได้ปรับประยุกต์เทคนิคและรูปแบบสร้างเป็นงานเครื่องประดับ เครื่องประดับปะวะหล่ำที่ตกแต่งด้วยการฝังอัญมณีคือ ประดับเกสรของดอกจันทั้ง 6 ด้านด้วยทับทิม เรียกว่า ปะวะหล่ำทรงเครื่อง สร้อยคอหรือสร้อยมือปะวะหล่ำจะร้อยคั่นด้วยลูกปัดทองเม็ดเรียบเสมอ อันเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับปะวะหล่ำซึ่งมีผิวลายลวดดัด

ไม่มีความคิดเห็น: