วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

ต่างหูพวงเต่าร้าง

ต่างหูนี้มีลักษณะคล้ายพวงผลระย้าของต้นเต่าร้าง ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายหมากไทย ต่างหูเต่าร้างมีรูปทรงโปร่งโค้งในส่วนบน ลวดลายและวิธีการทำส่วนนี้เป็นเช่นเดียวกับส่วนล่างของกระดุมดอกบัว แต่ส่วนขอบจะดัดโค้งกระทะคว่ำ ในช่วงพวงระย้าจะติดดอกสักเล็กๆ ต่อเนื่องห้อยลงมา 2 - 4 ดอก ส่วนปลายสายระย้าทุกสายประดับทองแผ่นรูปข้าวหลามตัดชิ้นเล็กคล้ายใบของเต่าร้าง เมื่อผู้ใส่ต่างหูเต่าร้างเคลื่อนไหวจะทำให้พวงเต่าร้างไหวพลิ้วเช่นเดียวกับใบเต่าร้างต้องลม ช่างทองสามารถจำลองลักษณะเด่นของพวงระย้าไว้ในต่างหู แม้จะมีที่มาจากธรรมชาติและเป็นแบบโบราณดั้งเดิมแต่ต่างหูนี้เป็นแบบที่ไม่เคยล้าสมัยเลย

แหวนตะไบ


แหวนตะไบเป็นแหวนฝังพลอยหรือเพชรซีก แต่ช่างทองเพชรบุรีจะสร้างลวดลายตกแต่งโดยการตะไบขอบทั้ง 2 ข้างของเรือนแหวนให้เป็นร่องลึก แหวนดังกล่าวจึงเรียกว่า แหวนตะไบ

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

แหวน/กำไลพญานาค

นาคเป็นสัตว์กึ่งเทพในเทพปกรณัม เป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์และเป็นองค์เทพผู้พิทักษ์ในพระพุทธศาสนา ทั้งสามารถจำแลงกายเป็นมนุษย์ เชื่อกันว่าพญานาคนำมาซึ่งความสุข ความบริบูรณ์ในชีวิต ตลอดจนทำให้รอดพ้นจากเหตุร้ายที่กล้ำกรายถึงชีวิต โดยมากพญานาคจะปรากฏใช้ในรูปแบบพระธำมรงค์และพาหุรัด (กำไลต้นแขน) ของพระมหากษัตริย์ อันแสดงถึงพระราชอำนาจและเดชานุภาพเหนือพระราชอาณาจักรและไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ทั้งปวง ดังนี้แหวนพญานาคจึงมักสวมกันที่นิ้วชี้ โดยพญานาคหันเศียรเข้าหานิ้วโป้ง เพราะนิ้วชี้เป็นนิ้วที่ใช้ชี้ออกคำสั่งนั่นเอง เศียรพญานาคจะใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ ทั้งหมด ลายกระหนกคล้ายครีบบนสันหลังและแนวขอบแหวนจะเป็นลายแกะ ส่วนปลายลายจะบิดโค้งคล้ายกระหนกเปลว นอกจากนี้ ช่างจะแกะลายเส้นเพื่อลดช่องว่างของผิวทองตามท้องพญานาคและบริเวณเกล็ดพญานาคด้านบน มีการลงยาสีแดงและเขียว แหวนและกำไลพญานาคมีลักษณะพิเศษอีกประการคือ ลิ้นของพญานาคสามารถเลื่อนเข้าออกและกระดกได้เมื่อผู้สวมใส่เคลื่อนไหวมือ อาจลงยาสีแดงที่ลิ้นหรือไม่ก็ได้

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

แหวน/กำไลพิรอด

ในสมัยโบราณ พิรอดคือแหวนเครื่องรางถักด้วยผ้ายันต์หรือสายสิญจน์ เชื่อกันว่าบันดาลให้แคล้วคลาดจากภยันตราย โชคร้ายและความชั่วร้าย แหวนพิรอดประดับพลอยนิยมฝังพลอยนพเก้า แบบสมบูรณ์จะฝังพลอยนพเก้าและลงยาสีแดงกับเขียว

แหวนนพเก้า

นพเก้า นพรัตน์ เป็นชื่อเครื่องประดับซึ่งมีแบบเฉพาะและประดับอัญมณี 9 ชนิดตามคติความเชื่อลัทธิพราหมณ์ เชื่อกันว่าอัญมณีแต่ละชนิดมีพลังอำนาจต่างๆ กันแฝงอยู่ นพเก้าจึงนำสิริมงคลมาสู่ผู้ครอบครองเป็นเจ้าของ ในสมัยก่อน แม่ทัพจะแต่งกายด้วยเครื่องประดับนพเก้าเป็นเครื่องรางแห่งชัยชนะในการออกรบ อัญมณี 9 ชนิดนี้ ประกอบด้วยพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อน ได้แก่ เพชร ทับทิม ไพลิน บุษราคัม มรกต โกเมน เพทาย ไพฑูรย์และมุกดา อัญมณีทั้งหมดยกเว้นเพชรซีกนิยมใช้แบบเจียระไนหลังเบี้ยเสมอ แหวนนพเก้าแบบดั้งเดิมแท้จะมียอด 3 ชั้น

ลูกไม้ปลายมือ

เครื่องประดับลูกไม้ปลายมือมีมาแต่สมัยอยุธยา ช่างผู้เป็นต้นคิดสร้างสรรค์ อาจได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย ที่พืชพรรณธัญญาหารมีพร้อมมูลตลอดปี รูปแบบของงานสื่อถึงความหมายของชื่อ และสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของ แรงบันดาลใจของช่างได้เป็นอย่างดี

แหวนอยุธยาโบราณ

แต่โบราณแหวนนี้มีใส่กันแต่ในหมู่ชนชั้นเจ้านายที่ได้รับพระราชทานจากองค์พระมหากษัตริย์ โดยนัยแล้วย่อมเป็นเครื่องบอกถึงสถานภาพ และยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้ครอบครอง จากปูมกำเนิดและลักษณะรูปทรงย่อมกล่าวได้ว่า แหวนอยุธยาโบราณเป็นเครื่องประดับที่สื่อถึงอำนาจ รายละเอียดตกแต่งแหวนมีส่วนประกอบวิจิตรบรรจงและประดับอัญมณีหลายชนิด รูปแบบของแหวนปรับเปลี่ยนได้โดยเพิ่มหรือลดไข่ปลาและเพชรที่ประดับ หรือเปลี่ยนพลอยเม็ดยอด

กำไลก้านบัวและกำไลหัวบัว

กำไลข้อเท้าสำหรับเด็กในสมัยก่อนมีลักษณะเป็นห่วงกลมใหญ่ ส่วนปลายทั้งสองมีรอยขีดเป็นเส้นรอบ เมื่อสวมใส่ใช้วิธีบิดไปด้านข้าง เรียกว่า กำไลก้านบัว อีกชนิดหนึ่งเป็นกำไลซึ่งมีปลายเป็นรูปดอกบัวหลวง อาจใช้วิธีการทำเช่นเดียวกับกำไลก้านบัว แต่ส่วนปลายดุนเป็นรูปดอกบัว การสวมใช้วิธีบิดเช่นกัน หรือเป็นกำไลแข็ง ใช้การสลักและดุนดอกลวดลายกลีบบัว ลายประจำยาม กำไลประเภทสุดท้ายนี้ส่วนที่เป็นทองคำจะเป็นส่วนปลายทั้งสองข้าง ส่วนกลางของกำไลจะทำด้วยนาก การประกอบเรือนมีสลักและเดือยเกลียวที่ปลายหนึ่งของกำไล เมื่อใส่และถอดต้องคลายเดือยเกลียวเพื่อถอดหัวบัวออก ช่างทองจะแกะลวดลายส่วนก้านทองและปลายกำไล

ปะวะหล่ำ

เครื่องประดับชุดปะวะหล่ำ เป็นงานที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีน โดยมีความเชื่อกันว่า โคมไฟซึ่งให้ความสว่างไสวเปรียบประดุจสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง ปะวะหล่ำมีลักษณะเด่นที่รูปทรง มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกโปร่งหกเหลี่ยม กรรมวิธีการสร้างงาน คือเป็นงานลวดดัดลายที่ละเอียดสวยงาม แสดงลักษณะเฉพาะในเชิงช่างของงานเครื่องทองเพชรบุรี ลวดลายเป็นลวดทองบิดเกลียว ดัดเป็นรูปดอกจัน มีเกสรทำด้วยไข่ปลาตีแบนประดับ อาจประดับเกสรเพียงดอกเดียว หรือประดับเกสรดอกจันทุกดอก (รวม 3 ดอก) ในแต่ละด้าน แต่โบราณนั้น งานทองกรรมวิธีเดินลวดดัดลวดเช่นนี้ ช่างต้องเชื่ยวชาญในเชิงช่างอย่างมากและมักใช้ในงานเครื่องสูง ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ช่างทองได้ปรับประยุกต์เทคนิคและรูปแบบสร้างเป็นงานเครื่องประดับ เครื่องประดับปะวะหล่ำที่ตกแต่งด้วยการฝังอัญมณีคือ ประดับเกสรของดอกจันทั้ง 6 ด้านด้วยทับทิม เรียกว่า ปะวะหล่ำทรงเครื่อง สร้อยคอหรือสร้อยมือปะวะหล่ำจะร้อยคั่นด้วยลูกปัดทองเม็ดเรียบเสมอ อันเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับปะวะหล่ำซึ่งมีผิวลายลวดดัด

สร้อยคอลูกสน

ลูกสนประกอบด้วยโครงลวดทองขนาดเล็กมาต่อประกอบกันเป็นลูกสน จากคำบอกเล่าของนางสาวทองคำ ทองสัมฤทธิ์ ช่างทองเมืองเพชรรุ่นที่ 3 แห่งตระกูลทองสัมฤทธิ์ เล่าว่า ลูกสนในสมัยแรกๆ ในส่วนไข่ปลาซึ่งเชื่อมติดอยู่บนโครงของลูกสนจะมีไข่ปลาเพียง 1 เม็ด แต่ในปัจจุบันจะใช้ไข่ปลาขนาดเล็กเชื่อมต่อเป็นดอกพิกุลขนาดเล็ก แล้วจึงนำมาประดับบนโครงลูกสนอีกทีหนึ่ง เครื่องประดับลูกสนมีที่มาจากรูปทรงธรรมชาติที่โดดเด่น เป็นทองรูปพรรณที่ละเอียดและประกอบขึ้นด้วยฝีมือชั้นเยี่ยมในวิธีการทำไข่ปลา อันเป็นลักษณะเด่นของงานทองเพชรบุรี

แหวนดอกพิกุล

ต้นพิกุลพบเห็นปลูกในวัดทั่วไป เชื่อกันว่าพิกุลเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สถิตของเทพ ดอกพิกุลมีขนาดเล็กบอบบางและหอมทนนาน เป็นเครื่องประกอบในการปรุงแป้งร่ำน้ำอบต่างๆ ที่ใช้ในราชสำนัก ลายพิกุลแต่ละดอกประดิษฐ์ประดอยขึ้นจากลวดเกลียวและไข่ปลาขนาดจิ๋ว ช่างมักใช้ตกแต่งหรือประกอบทองรูปพรรณลวดลายอื่นๆ ดอกพิกุลมี 3 แบบ คือ ดอกพิกุลซึ่งประกอบด้วยไข่ปลาขนาดจิ๋ว 5-6 เม็ดวางเรียงกันแล้วเทินด้วยไข่ปลาหนึ่งเม็ดด้านบน ดอกพิกุลแบบที่สองทำด้วยลวดทองขนาดเล็ก แบบที่สามเป็นดอกพิกุลซึ่งประกอบด้วยลวดทองและเทินไข่ปลาเป็นเกสรของดอกพิกุล การใช้กรอบดอกพิกุลไข่ปลาล้อมอัญมณีจะช่วยขับความสวยงามของอัญมณีเม็ดยอดยิ่งขึ้น บ่าข้างของเรือนแหวนยังประดับด้วยดอกพิกุลซึ่งทำด้วยลวดทองทั้ง 2 ข้าง

แหวนจั่นมะพร้าว

แบบจั่นมะพร้าวได้แรงบันดาลใจจากดอกของต้นมะพร้าว มะพร้าวเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใช้ในงานพิธีแทบทุกประเภทในวิถีชีวิตไทยจากสามัญชนจนถึงเจ้าฟ้า ผลไม้สำคัญนี้จึงเป็นที่มาของเครื่องประดับที่มีลวดลายเฉพาะตัว ประกอบด้วยงานลวดเกลียวและไข่ปลาขนาดจิ๋ว บ่าแหวนประดับดอกพิกุล

กระดุม หรือ ดอกบัวสัตตบงกช

ดอกบัวสื่อถึงความสงบ ศรัทธาและความสง่างาม พุทธศาสนิกชนนิยมใช้ดอกบัวบูชาพระพุทธเจ้า ดอกบัวมีความเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับศาสนาพุทธดังความสำคัญประการหนึ่งคือ คำสอนแห่งพระบรมศาสดาที่ทรงอุปมาโดยแยบคายเปรียบคน 4 เหล่าดังบัว 4 ระดับ คนเหล่าแรกได้แก่ผู้มีแต่อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่อาจสอนสั่งได้ ดังเช่นดอกบัวที่อยู่ใต้โคลนตม คนเหล่าที่สี่ได้แก่ผู้มีปัญญาแจ่มใส เมื่อได้รับการชี้แนะแต่เพียงเล็กน้อยอาจหลุดพ้นจากอวิชชาได้ ดังเช่นดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ แหวนดอกบัวมีมาแต่สมัยราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ลายทองรูปพรรณซึ่งเลียนแบบบัวสัตตบงกชมีชื่อเรียกในหมู่ช่างทองเมืองเพชรบุรีว่า “กระดุม” ทั้งนี้ เนื่องจากลวดลายนี้เดิมใช้ทำกระดุมสำหรับติดเสื้อราชปะแตน รูปทรงโดยรวมคล้ายคลึงกับหัวเม็ดทรงมัน กล่าวคือทรวดทรงกระดุมจะป้อมคล้ายบัวสัตตบงกชมากกว่าบัวหลวง ส่วนปลายจะสร้างลายเป็นชั้นๆ เช่นเดียวกับหัวเม็ดทรงมัน ต่อมาจึงมีการดัดแปลงเป็นเครื่องประดับครบชุด ได้แก่ แหวนซึ่งมีกระดุมเป็นหัวแหวน บ่าข้างเรือนแหวนประดับลายดอกพิกุล สร้อยข้อมือ ต่างหู สร้อยคอ เข็มกลัดและกระดุม 5 เม็ด